เศรษฐกิจแบบแบ่งปันในภาคบริการโลจิสติกส์
สำหรับในภาคบริการโลจิสติกส์นั้นมีการนำเอารูปแบบธุรกิจในลักษณะเศรษฐกิจแบบแบ่งปันมาใช้ในการจัดการโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ โดยมีกระบวนการแบ่งปันที่สำคัญหลักๆ 2 ส่วน คือ ด้านการขนส่งสินค้าและการจัดการคลังสินค้า โดยตัวอย่างของเศรษฐกิจแบบแบ่งปันในภาคบริการโลจิสติกส์สามารถอธิบายได้ดังนี้
1. ด้านการขนส่ง (Transport) การแบ่งปันด้านการขนส่ง แบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ
1.1 การขนส่งสินค้า (Freight Transport) ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งปันการขนส่งในหลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง เช่น
1.1.1 การขนส่งแบบรวมเที่ยว (Consolidation)
ผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เกิดการสั่งซื้อสินค้าในขนาดและปริมาณที่ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต และมีความถี่ของคำสั่งซื้อมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จำเป็นต้องขนส่งสินค้าด้วยยานพาหนะที่มีขนาดเล็กลงเพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณการขนส่งสินค้า ทั้งนี้ ในการสั่งซื้อหากสินค้ามาจากหลายซัพพลายเออร์จะทำให้มีต้นทุนการขนส่งที่สูง ดังนั้น วิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยลดต้นทุนหรือลดระดับสินค้าคงคลัง คือ การขนส่งแบบรวมเที่ยว เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อระดับความต้องการการบริการในขณะที่ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่ายังคงมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ
1.1.2 โลจิสติกส์บุคคลที่ 4 (Fourth-Party Logistics: 4PLs)
สำหรับการขนส่งสินค้าในโลกของเศรษฐกิจแบบแบ่งปันของภาคบริการโลจิสติกส์นั้น โลจิสติกส์บุคคลที่ 4 (Fourth-Party Logistics: 4PLs) ถือเป็นผู้เล่นสำคัญในธุรกิจ การให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่ง 4PLs พัฒนามาจาก 3PLs โดย เพิ่มการให้บริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน โดยในการขนส่งสินค้า 4PLs จะสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อม 3PLs หลายรายเข้าด้วยกัน เพื่อให้การบริการสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ซับซ้อนให้ดียิ่งขึ้น โดยแพลตฟอร์มนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารแบบ Real Time ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์และลูกค้า เพื่อให้สามารถจับคู่ความต้องการในการขนส่งและพื้นที่ขนส่งสินค้าที่คงเหลือ ลดปัญหาการขนส่งไม่เต็มตู้และการขนส่งเที่ยวเปล่าได้
1.1.3 การขนส่งสินค้าบนพื้นฐานของการขนส่งหลายรูปแบบ (Synchromodality)
เป็นแนวคิดเกี่ยวข้องกับการบูรณาการการไหลของสินค้าในทุกโหมดของการขนส่งสร้างขึ้นบนพื้นฐานของแนวคิด การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal approach) ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับการใช้งานของตู้คอนเทนเนอร์แสดงถึงการขนส่งสินค้าที่ไร้รอยต่อจากต้นทางไปถึงปลายทางด้วยแต่ละโหมดที่ถูกปรับใช้อย่างครบวงจรในการไหลของการกระจายสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้า การเชื่อมต่อของยานพาหนะนี้ทำให้มีการจัดส่งที่ประหยัดต้นทุนและประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยต้องมีการแบ่งปันในวงกว้างเนื่องจากบางโหมดที่ต้องการขนาดของการจัดส่ง ต้องใช้ “การรวมกัน” ของปริมาณในลูกค้าห่วงโซ่อุปทานผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จำเป็นต้องมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันของแต่ละโหมด การขนส่งและผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการ
1.2 การขนส่งสินค้าในเขตเมืองแบบถึงมือผู้รับ (Last-Mile Delivery)
กระแส E-Commerce ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเทรนด์การบริโภคแบบ “ของมันต้องมี” “อยากได้อะไร เมื่อไหร่ ก็สามารถสั่งได้” และความต้องการแบบ “On demand Delivery” ปรับเปลี่ยนให้การขนส่งในเขตเมืองแบบถึงมือผู้รับมีความสำคัญมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าทั่วทุกพื้นที่ การแบ่งปันการขนส่งหรือแบ่งปันรถในการขนส่งจึงเป็นกิจกรรมการแบ่งปันหนึ่งของการขนส่งรูปแบบนี้ เพื่อให้การให้บริการครอบคลุมในพื้นที่ที่ตนไม่ชำนาญเกิดความคล่องตัว และเพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนา Last-Mile Delivery ไปสู่ Last-Yard Delivery เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการจัดส่งสินค้า โดยการติดตั้งตู้เก็บของบรรจุภัณฑ์ในอาคารอะพาร์ตเมนต์หรือสถานที่สาธารณะที่เข้าถึงได้ ซึ่งทำให้พนักงานจัดส่งสามารถจัดส่งหลายแพคเกจได้ในครั้งเดียว สร้างความมั่นใจว่าลูกค้าสามารถมารับได้ทุกที่ทุกเวลา
2. ด้านการจัดการคลังสินค้า (Warehousing Management)
การแบ่งปันด้านคลังสินค้า เป็นการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถใช้ศักยภาพพื้นที่คลังสินค้าที่ว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้แพลตฟอร์มการแบ่งปันดิจิทัลในการบริหารกำลังการผลิตส่วนเกินของคลังสินค้าให้ “คลังสินค้ากลายเป็น บริการ” และให้บริการในลักษณะของการทำสัญญาระหว่าง ผู้ผลิตและผู้ให้บริการคลังสินค้าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงด้วยตนเอง ทำให้สามารถลดต้นทุนในส่วนของการบริหารจัดการคลังสินค้าลงได้ ซึ่งการแบ่งปันลักษณะนี้ยังสามารถนำไปสู่รูปแบบ “เครือข่ายไมโครโลจิสติกส์” ที่สามารถจัดตำแหน่งสินค้าคงคลังให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็วในการส่งมอบให้กับลูกค้าที่ต้องการบริการในวันถัดไปและวันเดียวกันมากขึ้น (Next-day and same-day service) การแบ่งปันเศรษฐกิจทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการจัดการการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน บริษัทต่างๆ สามารถแบ่งปันสินทรัพย์ทางกายภาพให้มีประสิทธิภาพ เช่น คลังสินค้าหรือ ยานพาหนะ เช่นเดียวกับการไหลของข้อมูล (Information Flow) แพลตฟอร์มการแบ่งปันนวัตกรรมด้านยานพาหนะ อนุญาตให้บริษัทต่างๆ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ (Asset) เส้นทาง (Route) และอัตราการเติม (Fill rate) ทั้งนี้ World Economic Forum (WEF) ได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2568 ตลาดรถบรรทุกจะใช้แพลตฟอร์มการขนส่งร่วมกันกว่าร้อยละ 15 และตลาดคลังสินค้าย้ายไปสู่ข้อตกลงการแบ่งปันกันถึง ร้อยละ 20
หากสนใจติดต่อใช้บริการกับทาง BS Express https://bsgroupthailand.com/
อ้างอิงที่มาจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10203